ทำความรู้จัก GMS ระเบียงเศรษฐกิจอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง




เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
ขอขอบคุณภาพประกอบจาก เฟซบุ๊ก คลับหอการค้าจังหวัดทั่วประเทศ

          เชื่อว่าหลายคนคงได้ยินคำว่า GMS ในข่าวเศรษฐกิจกันอยู่บ่อย ๆ และอาจสงสัยว่า GMS นี้คืออะไร แล้วมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจบ้านเราอย่างไร วันนี้กระปุกดอทคอม มีข้อมูลมาฝากเพื่อน ๆ กันจ้า

          กรอบความร่วมมือ GMS (Greater Mekong Subregion) หรืออนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง 6 ประเทศ ประกอบไปด้วย ไทย พม่า ลาว กัมพูชา เวียดนาม และจีนตอนใต้ ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2535 โดยจะครอบคลุมเนื้อที่ 2.34 ล้านตารางกิโลเมตร  มีประชากรรวม 257.5 ล้านคน

          โดยโครงการนี้มีชื่อเต็มว่า GMS Economic Corridors หรือก็คือ ระเบียงเศรษฐกิจอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมการขยายตัวด้านอุตสาหกรรม การเกษตร การค้า การลงทุนและบริการ เพื่อให้เกิดการจ้างงาน, ยกระดับการครองชีพ, การถ่ายทอดเทคโนโลยีและการศึกษาระหว่างกัน, การใช้ทรัพยากรธรรมชาติที่ส่งเสริมกันอย่างมีประสิทธิภาพ และช่วยเพิ่มขีดความสามารถและโอกาสการแข่งขันในเวทีการค้าโลก ผ่านกลยุทธ์หลัก 3 ด้าน คือ สนับสนุนให้มีการเชื่อมโยงระหว่างกัน (Connectivity) เพื่อให้เกิดการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน (Competitiveness) โดยการรวมกลุ่มกันในอนุภูมิภาค (Community)

          โครงการนี้ได้รับเงินอุดหนุนจาก ธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย หรือ ADB (Asian Development Bank) ในการพัฒนาสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานหลายแขนง โดยเฉพาะเส้นทางคมนาคมทางถนน แต่ก็รวมถึงระบบไฟฟ้า โทรคมนาคม สิ่งแวดล้อม และกฎหมายด้วย

          สำหรับสาขาความร่วมมือของ GMS มี 9 สาขา ได้แก่ คมนาคมขนส่ง โทรคมนาคม พลังงาน การค้า การลงทุน เกษตร สิ่งแวดล้อม การท่องเที่ยว และการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์

โดยแผนงานที่มีความสำคัญในลำดับสูง (Flagship Programs) จำนวน 11 แผนงาน ได้แก่

          1) แผนงานพัฒนาแนวพื้นที่เศรษฐกิจเหนือ-ใต้ (North-South Economic Corridor)

         
2) แผนงานพัฒนาแนวพื้นที่เศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก (East-West Economic
Corridor)

         
3) แผนงานพัฒนาแนวพื้นที่เศรษฐกิจตอนใต้ (Southern Economic Corridor)

         
4) แผนงานพัฒนาเครือข่ายโทรคมนาคม (Telecommunications Backbone)

         
5) แผนงานซื้อขายไฟฟ้าและการเชื่อมโยงเครือข่ายสายส่งไฟฟ้า (Regional Power Interconnection and Trading Arrangements)

         
6) แผนงานการอำนวยความสะดวกการค้าและการลงทุนข้ามพรมแดน (Facilitating Cross-Border Trade and Investment)

         
7) แผนงานเสริมสร้างการมีส่วนร่วมและความสามารถในการแข่งขันของภาคเอกชน (Enhancing Private Sector Participation and Competitiveness)

         
8) แผนงานพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และทักษะความชำนาญ (Developing Human Resources and Skills Competencies)

         
9) กรอบยุทธศาสตร์การพัฒนาสิ่งแวดล้อม (Strategic Environment Framework)

         
10) แผนงานการป้องกันน้ำท่วมและการจัดการทรัพยากรน้ำ (Flood Control and Water Resource Management)

         
11) แผนงานการพัฒนาการท่องเที่ยว (GMS Tourism Development)

แนวทางการดำเนินงานภายใต้กรอบ GMS

          1. โครงการพัฒนาภายใต้กรอบความร่วมมือ GMS ในปัจจุบันส่วนใหญ่เน้นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เช่น ถนน ไฟฟ้า ประปา และสะพานข้ามแม่น้ำโขงตามแนวพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจที่สำคัญ 3 แนว คือ แนวเหนือ-ใต้ (North-South Economic Corridors), แนวตะวันออก-ตะวันตก (East-West Economic Corridor) และแนวใต้ (Southern Economic Corridor)

          2. ADB ซึ่งเป็นผู้สนับสนุนหลักด้านเงินทุนและวิชาการของการพัฒนาโครงการความร่วมมือทางเศรษฐกิจ GMS โดยการจัดทำโครงการให้ความช่วยเหลือทางวิชาการ (RETA 6450: Enhancing Transport and Trade Facilitation in GMS) เพื่ออำนวยความสะดวกการค้าและการขนส่ง โดยเน้น 4 เรื่องหลัก ๆ คือ

          (1) การสร้างความเข้มแข็งด้านสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช (SPS) 

          (2) การพัฒนาระบบโลจิสติกส์ระดับประเทศและอนุภูมิภาค GMS เพื่อลดอุปสรรคทางด้านกฎระเบียบ และต้นทุนด้านค่าใช้จ่ายและเวลา

          (3) การจัดตั้งองค์กร/สถาบันผู้เชี่ยวชาญในการสนับสนุนการอำนวยความสะดวกด้านการขนส่งและการค้า

          (4) การแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกันในอนุภูมิภาค


          ซึ่งใน 3 กิจกรรมแรกอยู่ระหว่างการหารือในเบื้องต้นกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้านการใช้มาตรการ SPS และโลจิสติกส์ ของประเทศสมาชิก GMS ซึ่งกรมการค้าต่างประเทศในฐานะผู้ประสานงานหลักในสาขาการอำนวยความสะดวกทางการค้าก็ได้ชี้แจงและให้ข้อมูลเกี่ยวกับบทบาทหน้าที่ของกระทรวงพาณิชย์และกรมการค้าต่างประเทศเพื่อใช้เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาโครงการทั้งสองของ ADB ต่อไป

          ปัจจุบัน แนวพื้นที่เศรษฐกิจ (Economic Corridor) ใน GMS แบ่งออกเป็น 3 แนว ได้แก่ แนวพื้นที่เศรษฐกิจตะวันออก - ตะวันตก (East West Economic Corridor: EWEC), แนวพื้นที่เศรษฐกิจเหนือ – ใต้ (North South Economic Corridor: NSEC) และแนวพื้นที่เศรษฐกิจตอนใต้ (Southern Economic Corridor)

1. แนวพื้นที่เศรษฐกิจตะวันออก - ตะวันตก (East West Economic Corridor: EWEC) เชื่อมโยงเวียดนาม-ลาว-ไทย-พม่า

          แนวพื้นที่เศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก (East West Economic Corridor: EWEC) เป็น
การเชื่อมโยงพื้นที่ด้านตะวันออกจากเวียดนาม ผ่าน สปป.ลาว บนเส้นทาง R 9 ข้ามสะพานแม่น้ำโขงแห่งที่ 2 เข้าสู่ไทย และไปสู่สหภาพพม่า หรืออาจเรียกได้ว่าเป็นเส้นทางเชื่อมโยงระหว่างทะเลจีนใต้กับทะเลอันดามัน โดยมีระยะทางรวมประมาณ 1,450 กิโลเมตร

เส้นทาง R9 มีจุดเชื่อมโยงเมืองสำคัญต่าง ๆ ดังนี้

          เมาะละแหม่ง - เมียวะดี (พม่า) – แม่สอด – พิษณุโลก – ขอนแก่น – กาฬสินธุ์ - มุกดาหาร (ไทย) – สะหวันนะเขต - แดนสะหวัน (ลาว)- ลาวบาว – เว้ – ดองฮา - ดานัง (เวียดนาม)

          (i) จุดข้ามแดน : เมียวะดี (พม่า) – แม่สอด (ไทย)
          (ii) จุดข้ามแดน : มุกดาหาร (ไทย) – สะหวันนะเขต (ลาว)
          (iii) จุดข้ามแดน : แดนสะหวัน (ลาว) – ลาวบาว (เวียดนาม)

แนวพื้นที่เศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตก (R 9)

          ถนน แม่สอด – มุกดาหาร (770 กม.) – ยกระดับให้เป็นทางด่วน 4 เลน

          - เป็นทางด่วน 4 เลนแล้ว (233 กม.)
          - อยู่ระหว่างก่อสร้าง (75 กม.)
          - วางแผนที่จะยกระดับภายใน 5 ปี (262 กม.)

          สะพาน สะพานข้ามแม่น้ำโขงแห่งที่ 2 (มุกดาหาร-สะหวันนะเขต)

          - สร้างเสร็จแล้ว โดยได้รับเงินกู้จาก JBIC
          - เปิดใช้เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2549

EWEC มีจุดที่เชื่อมต่อกับเส้นทางในแนวเหนือ-ใต้หลายเส้นทาง ได้แก่

          (1) ย่างกุ้ง- ดาไว

          (2) เชียงใหม่-กรุงเทพฯ

          (3) หนองคาย- กรุงเทพฯ

          (4) เส้นทางหมายเลข 13 ในลาว

          (5) ทางด่วน 1A ในเวียดนาม

          EWEC จึงมีบทบาทสำคัญในการเป็นทางเปิดไปสู่ท่าเรือสำหรับภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทยและภาคกลางของลาว รวมทั้งเป็นการเปิดโอกาสให้แก่เมืองขนาดกลางหลายเมืองในประเทศ GMS 4 ประเทศ

วัตถุประสงค์ของการริเริ่ม EWEC คือ

          (1) เพื่อเสริมสร้างความร่วมมือทางเศรษฐกิจและอำนวยความสะดวกทางการค้าและการลงทุน และการพัฒนาระหว่างประเทศลาว พม่า ไทย และเวียดนาม

          (2) เพื่อลดต้นทุนการขนส่งในพื้นที่ และทำให้การเคลื่อนย้ายสินค้าและคนโดยสารมีประสิทธิภาพมากขึ้น

          (3) เพื่อลดความยากจน สนับสนุนการพัฒนาในพื้นที่ชนบทและพื้นที่ชายแดน เพิ่มรายได้ในกลุ่มคนที่มีรายได้ต่ำ สร้างโอกาสการจ้างงานสำหรับสตรี และส่งเสริมการท่องเที่ยว และเน้นการสร้างโอกาสในการพัฒนาอุตสาหกรรมการเกษตรและการท่องเที่ยว

โครงการด้านการขนส่งภายใต้ EWEC ที่สำคัญ ได้แก่

          1. การพัฒนาเส้นทางการขนส่งตะวันออก-ตะวันตก

          2. การพัฒนาการขนส่งทางน้ำ

          3. การพัฒนาเส้นทางรถไฟ

          4. การปรับปรุงท่าอากาศยานสะหวันนะเขต

          5. การอำนวยความสะดวกการเคลื่อนย้ายสินค้าและคนข้ามพรมแดน

          6. การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในสาขาการขนส่ง

โครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานอื่น ๆ ได้แก่

          7. การเชื่อมโยงระบบสายส่งไฟฟ้า

          8. การส่งเสริมการจัดทำความร่วมมือด้านพลังงานในภูมิภาค

          9. การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคม

          10. การพัฒนาการท่องเที่ยว

          11. การริเริ่มเขตเศรษฐกิจ

          12. การริเริ่มของคณะทำงาน AMEICC (Japan) ในการพัฒนาพื้นที่ตะวันตก-ตะวันออก

2. แนวพื้นที่เศรษฐกิจเหนือ – ใต้ (North South Economic Corridor: NSEC) เชื่อมโยงไทย-พม่า/ลาว-จีน

NSEC ประกอบด้วยเส้นทางหลัก 3 เส้นทาง ได้แก่

          (1) เส้นทาง R3E : คุนหมิง – ยูซี – หยวนเจียง – โมเฮย – ซิเมา – เฉียวเมิงหยาง – บ่อหาน (จีน) - บ่อเต็น – ห้วยทราย (ลาว) – เชียงของ – เชียงราย – ตาก – กรุงเทพฯ (ไทย)
          (i) จุดข้ามแดน : บ่อหาน (จีน) – บ่อเต็น (ลาว)
          (ii) จุดข้ามแดน : ห้วยทราย (ลาว) – เชียงของ (ไทย)

          (2) เส้นทาง R3W : เชียงตุง – ท่าขี้เหล็ก (พม่า) – แม่สาย – เชียงราย – ตาก – กรุงเทพฯ (ไทย)

          (i) จุดข้ามแดน: ท่าขี้เหล็ก (พม่า) – แม่สาย (ไทย)

          (3) เส้นทาง R5 : คุนหมิง – หมี่เหลอ – หยินซ่อ – ไคหยวน – เม่งซือ – เฮียโค่ว (จีน) – ลาวไค – ฮานอย – ไฮฟอง (เวียดนาม)

          (i) จุดข้ามแดน: เฮียโค่ว (จีน) – ลาวไค (เวียดนาม)

แนวพื้นที่เศรษฐกิจเหนือ – ใต้ (R3)

          ไทย – สปป.ลาว – จีน (R3E)

          ถนน

          - กรุงเทพฯ – เชียงราย (830 กม.)
          - เชียงราย – เชียงของ (110 กม.)
          - ถนนในสปป.ลาว (228 กม.)

          สะพาน

          - สะพานข้ามแม่น้ำโขงที่เชียงของ (ADB ให้ความช่วยเหลือทางเทคนิค)

          ไทย – พม่า –จีน (R3W)

          ถนน

          - กรุงเทพฯ – แม่สาย (890 กม.)
          - New Mae Sai Bypass (8 กม.)

          สะพาน

          - สะพานข้ามแม่น้ำสายแห่งที่ 2

วัตถุประสงค์ของการริเริ่ม NSEC คือ

          (1) เพื่ออำนวยความสะดวกการค้าและการพัฒนาระหว่างลาว พม่า ไทย เวียดนาม และจีน

          (2) เพื่อลดต้นทุนค่าขนส่งในพื้นที่ภายใต้โครงการและทำให้การเคลื่อนย้ายสินค้าและคนมีประสิทธิภาพ

          (3) เพื่อลดความยากจน สนับสนุนการพัฒนาในพื้นที่ชนบทและชายแดน เพิ่มรายได้ของกลุ่มคนรายได้ต่ำ สร้างโอกาสในการจ้างงานสำหรับสตรี และส่งเสริมการท่องเที่ยวในพื้นที่

โครงการด้านการขนส่งภายใต้ NSEC ที่สำคัญ ได้แก่

          1. โครงการปรับปรุงถนน เชียงราย – คุนหมิง ผ่านลาว

          2. โครงการปรับปรุงถนน เชียงราย – คุนหมิง ผ่านพม่า

          3. โครงการปรับปรุงถนน ห้วยโก๋น (จ.น่าน) – ปากแบ่ง – อุดมไชย – บ่อเต็น – เชียงรุ้ง - คุนหมิง

          4. โครงการเส้นทางคมนาคม คุนหมิง – ฮานอย- ไฮฟอง

          5. การยกระดับเส้นทางรถไฟคุนหมิง – ไฮฟอง – ยินเวียน – ลาวไค และเส้นทางรถไฟต้าลี่ - หลุ่ยลี่

          6. การพัฒนาท่าอากาศยานที่หลวงน้ำทาและห้วยทราย

          7. การพัฒนาพื้นที่ตอนบนของ Lancang / ความตกลงว่าด้วยการเดินเรือเชิงพาณิชย์ในแม่น้ำโขง

          8. การอำนวยความสะดวกข้ามพรมแดนในการเคลื่อนย้ายสินค้าและคน

          9. การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในสาขาการขนส่ง

โครงสร้างพื้นฐานอื่น ๆ

          10. การเชื่อมโยงระบบสายส่งไฟฟ้า

          11. การส่งเสริมการจัดทำความร่วมมือด้านพลังงานในภูมิภาค

          12. การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคม

          13. การพัฒนาการท่องเที่ยวในแม่น้ำโขง

          14. การศึกษาก่อนการลงทุนในเขตเศรษฐกิจเหนือ-ใต้

          15. การจัดตั้งเขตเศรษฐกิจชายแดนพิเศษในจังหวัดเชียงราย

3. แนวพื้นที่เศรษฐกิจตอนใต้ (Southern Economic Corridor: SEC) เชื่อมโยงไทย-กัมพูชา-เวียดนาม

          แนวพื้นที่เศรษฐกิจตอนใต้ (Southern Economic Corridor: SEC) เป็นการพัฒนาแนว เส้นทางเชื่อมระหว่างไทย-กัมพูชา-เวียดนาม มีเส้นทางสำคัญ 2 เส้นทางคือ เส้นทาง R1 และ R10

เส้นทาง R1 มีจุดเชื่อมโยงเมืองสำคัญต่าง ๆ ดังนี้

          กรุงเทพฯ – กบินทร์บุรี – สระแก้ว - อรัญประเทศ หรือ กรุงเทพฯ – แหลมฉบัง – พนมสารคาม – กบินทร์บุรี – สระแก้ว – อรัญประเทศ (ไทย) - ปอยเปต – ศรีโสภณ – เปอสาด - พนมเปญ –นาคหลวง – บาเวด (กัมพูชา) – มอคไบ - โฮจิมินต์ซิตี้ – วังเตา (เวียดนาม)
          (i) จุดข้ามแดน : อรัญประเทศ (ไทย) – ปอยเปต (กัมพูชา)
          (ii) จุดข้ามแดน : บาเวด (กัมพูชา) – มอคไบ (เวียดนาม)

เส้นทาง R10 มีจุดเชื่อมโยงเมืองสำคัญต่าง ๆ ดังนี้

          กรุงเทพฯ - ตราด – หาดเล็ก (ไทย) – แชมแยม - เกาะกง – สะแรอัมเปิล – กำพต – ลอก (กัมพูชา) – ฮาเตียน – คาเมา – นามคาน (เวียดนาม)

          (i) จุดข้ามแดน : หาดเล็ก (ไทย) – แชมแยม (กัมพูชา)

วัตถุประสงค์ของการริเริ่ม SEC คือ

          (1) เพื่อส่งเสริมความร่วมมือในภูมิภาค สนับสนุนการรวมกลุ่มเศรษฐกิจ สนับสนุนการขยายตัวของการค้าและการลงทุน และอำนวยความสะดวกการแลกเปลี่ยนและการพัฒนาตามแนวพื้นที่ด้านตะวันออก-ตะวันตก ระหว่างไทย กัมพูชา เวียดนาม และบางส่วนทางตอนใต้ของลาว

          (2) เพื่อสนับสนุนการพัฒนาเขตเศรษฐกิจที่ครอบคลุมเมืองสำคัญใน ไทย กัมพูชา และเวียดนามโดยผ่านโครงสร้างเครือข่ายถนนและทางรถไฟ

โครงการด้านการขนส่งภายใต้ SEC ที่สำคัญ ได้แก่

          1. โครงการปรับปรุงเส้นทาง R1 กรุงเทพฯ - พนมเปญ – โฮจิมินห์ซิตี้ – วังเตา

          2. โครงการพัฒนาเส้นทาง R 10 กรุงเทพ – เกาะกง – กำพต (กัมพูชา) – ฮาเตียน – คาเมา – นามคาน (เวียดนาม)

          3. โครงการปรับปรุงเส้นทาง ตอนใต้ของลาว – สีหนุวิลล์

          4. โครงการพัฒนาเส้นทางตะวันตกตอนกลางของกัมพูชา – ตะวันออก

          5. โครงการพัฒนาทางรถไฟ ไทย – กัมพูชา – เวียดนาม

          6. โครงการปรับปรุงท่าเรือในพนมเปญและสีหนุวิลล์ (กัมพูชา) และในวังเตา (เวียดนาม)

          7. โครงการยกระดับท่าอากาศยานปากเซ (ลาว) และท่าอากาศยานรัตนคีรีและสะตรึงเตร็ง (กัมพูชา)

          8. การอำนวยความสะดวกการเคลื่อนย้ายสินค้าและคนข้ามพรมแดน

          9. การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในสาขาการขนส่ง

โครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานอื่น ๆ ได้แก่

          10. การเชื่อมโยงระบบสายส่งไฟฟ้า

          11. การส่งเสริมการจัดทำความร่วมมือด้านพลังงานในภูมิภาค

          12. การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานโทรคมนาคม

          13. การพัมนาการท่องเที่ยวแม่น้ำโขง

          14. แผนความร่วมมือทางเศรษฐกิจไทย-กัมพูชา

4. แนวพื้นที่เศรษฐกิจอื่น

          (1) เส้นทาง : คุนหมิง – ฉูฉง – ต้าลี่ – เป่าซาน – หลุ่ยลี่ (จีน) – มูเซ – ลาชิโอ (พม่า)

          (i) จุดข้ามแดน : หลุ่ยลี่ (จีน) – มูเซ (พม่า)

          (2) เส้นทาง : เวียงจันทน์ – บ้านลาว – ท่าแขก – เซโน – ปากเซ (ลาว) – สะตรึงเตร็ง – Kratie – พนมเปญ – สีหนุวิลล์

          (i) จุดข้ามแดน : ชายแดนเวียนขาม (ลาว) – ดองกระลอ (กัมพูชา)

          (3) เส้นทาง : นาเตย – อุดมไชย – ปักมอง – หลวงพระบาง – เวียงจันทน์ – ท่านาแล้ง (ลาว) – หนองคาย – อุดรธานี – ขอนแก่น – กรุงเทพฯ (ไทย)

          (i) จุดข้ามแดน : ท่านาแล้ง (ลาว) – หนองคาย (ไทย)

          (4) เส้นทาง : เวียงจันทน์ – ปอลิคัมไซ (ลาว) – ฮาติน (เวียดนาม)

          (i) จุดข้ามแดน : นำเพา (ลาว) – เคาโทร (เวียดนาม)

          (5) เส้นทาง : จำปาสัก (ลาว) – อุบลราชธานี (ไทย)

          (i) จุดผ่านแดน : วังเตา (ลาว) – ช่องเม็ก (ไทย)

          ทั้งนี้ สำหรับจังหวัดของไทยซึ่งตั้งอยู่ตามแนวพื้นที่พัฒนาเศรษฐกิจ (Economic Corridors) มี 26 จังหวัด สามารถสรุปได้ดังนี้

          แนวตะวันออก-ตะวันตก (East-West Economic Corridor: EWEC) ประกอบด้วย 7 จังหวัด ได้แก่ ตาก สุโขทัย พิษณุโลก เพชรบูรณ์ ขอนแก่น กาฬสินธุ์ มุกดาหาร

         
 แนวเหนือ-ใต้ (North-South Economic Corridor: NSEC) ประกอบด้วย 13 จังหวัด ได้แก่ เชียงราย เชียงใหม่ ลำปาง นครสวรรค์ อยุธยา ลำพูน พะเยา แพร่ อุตรดิตถ์ กำแพงเพชร (ตาก พิษณุโลก) กรุงเทพฯ

         
 แนวตอนใต้ (Southern Economic Corridor: SEC) ประกอบด้วย 8 จังหวัด ได้แก่ ฉะเชิงเทรา ปราจีนบุรี สระแก้ว ชลบุรี ระยอง จันทบุรี ตราด และกาญจนบุรี

ผลประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นจากการพัฒนา

           1. ระดับประเทศ กระตุ้นกิจกรรมทางเศรษฐกิจตามแนวพื้นที่พัฒนาซึ่งเป็นพื้นที่ยากจนส่งผลต่อการกระจายรายได้และบรรเทาความยากจนประชาชน ผ่อนคลายกฎระเบียบที่เป็นอุปสรรคต่อการค้า การลงทุนระหว่างประเทศ พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเชื่อมโยงทั้งภายในและประเทศเพื่อนบ้าน บริการทางการศึกษา สาธารณสุข เพื่อส่งเสริมคุณภาพชีวิตของประชาชน

           2. ระดับกลุ่ม GMS ดึงดูดนักลงทุนต่างชาติให้เข้ามาลงทุนในอนุภูมิภาคนำไปสู่การพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันของ GMS กับกลุ่มประเทศอื่นในที่สุด

           3. แนวทางการดำเนินการร่วม 6 ประเทศ ประกอบด้วย การพัฒนาพื้นที่และโครงสร้างพื้นฐาน เชื่อมโยง และพัฒนาพื้นที่เป้าหมายหลัก ปรับปรุงนโยบาย กฎระเบียบ พิธีการ แผนงานการสนับสนุนระบบข้อมูลการค้าและการลงทุน การศึกษาวิจัยโครงการต่าง ๆ การพัฒนาทักษะฝีมือ โดยเฉพาะในพื้นที่เป้าหมาย เพิ่มความสามารถในการเข้าถึงแหล่งทุนและเงินอุดหนุน การพัฒนาองค์กรและสถาบันเพื่อรองรับการพัฒนาในพื้นที่




ขอขอบคุณข้อมูลจาก
- npu.ac.th
- siamintelligence.com
- nesdb.go.th
- thaifta.com



คิดอย่างไรกับเรื่อง: ทำความรู้จัก GMS ระเบียงเศรษฐกิจอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง ?

รอโหลดข้อความของเพื่อน ๆ ด้านล่างนี้สักครู่ แล้วร่วมแสดงความคิดเห็นของคุณได้เลย !
ทำความรู้จัก GMS ระเบียงเศรษฐกิจอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง โพสต์เมื่อ 8 กุมภาพันธ์ 2556 เวลา 15:42:26 80,952 อ่าน แสดงความคิดเห็น
TOP