รู้จัก 3 เสาหลัก ประชาคมอาเซียน


ประชาคมอาเซียน


เกริ่นนำโดยกระปุกดอทคอม
ขอขอบคุณภาพประกอบจาก thai-aec.com

            นับถอยหลังอีกเพียง 2 ปีเศษเท่านั้น หรือ พ.ศ. 2558 ประเทศไทย พร้อมกับประเทศเพื่อนบ้าน ทั้ง  บรูไน พม่า กัมพูชา อินโดนีเซีย ลาว มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์  และเวียดนาม ก็จะก้าวเข้าสู่การรวมกลุ่มประเทศอาเซียน ซึ่งการรวมกลุ่มของประเทศสมาชิกทั้ง 10 ครั้งนี้ จะส่งผลต่อภาพรวมทั้งทางด้านการเมือง ความมั่นคง เศรษฐกิจ ประชาคม และวัฒนธรรม ในประเทศสมาชิกเป็นอย่างมาก โดยเราเรียกการรวมตัวกันของกลุ่มอาเซียนเพื่อขับเคลื่อนและต่อรองขีดความสามารถระหว่างประเทศในด้านต่าง ๆ นั้น ว่า "กลุ่มประชาคมอาเซียน" ทั้งนี้ กระปุกดอทคอมจึงขอรวบรวมความหมายของ "ประชาคมอาเซียน" มาฝากเพื่อน ๆ กันค่ะ

ความหมายและความสำคัญของประชาคมอาเซียน


            "ประชาคมอาเซียน" เป็นเป้าหมายของการรวมตัวกันของประเทศสมาชิกอาเซียน เพื่อเพิ่มอำนาจต่อรองและขีดความสามารถการแข่งขันของอาเซียนในเวทีระหว่างประเทศในทุกด้าน รวมถึงความสามารถในการรับมือกับปัญหาใหม่ ๆ ในระดับโลกที่ส่งผลกระทบมาถึงภูมิภาคอาเซียน เช่น ภาวะโลกร้อน การก่อการร้าย หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งคือ การเป็นประชาคมอาเซียน คือการทำให้ประเทศสมาชิกอาเซียนเป็น "ครอบครัวเดียวกัน" ที่มีความแข็งแกร่งและมีภูมิต้านทานที่ดี โดยสมาชิกในครอบครัวมีสภาพความอยู่ที่ดี ปลอดภัย และสามารถทำมาค้าขายได้อย่างสะดวกมากยิ่งขึ้น

            แรงผลักดันสำคัญที่ทำให้ผู้นำประเทศสมาชิกอาเซียนตกลงกันจัดตั้งประชาคมอาเซียน อันถือเป็นการปรับปรุงตัวครั้งใหญ่และวางรากฐานของการพัฒนาของอาเซียน คือ สภาพแวดล้อมระหว่างประเทศที่เปลี่ยนแปลงไปทั้งในด้านการเมือง เศรษฐกิจและสังคม ที่ทำให้อาเซียนต้องเผชิญกับความท้าทายใหม่ ๆ เช่น โรคระบาด อาชญากรรมข้ามชาติ ภัยพิบัติธรรมชาติ และปัญหาสิ่งแวดล้อม ภาวะโลกร้อน และความเสี่ยงที่อาเซียนอาจจะไม่สามารถแข่งขันทางเศรษฐกิจได้กับประเทศอื่น ๆ โดยเฉพาะจีนและอินเดีย ซึ่งมีอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างก้าวกระโดด

            ส่วนประชาคมอาเซียนนั้น ถือกำเนิดขึ้นอย่างเป็นทางการเมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ. 2546 จากการที่ผู้นำอาเซียนได้ร่วมลงนามในปฏิญญาว่าด้วยความร่วมมืออาเซียน ที่เรียกว่า "ข้อตกลงบาหลี 2" เพื่อเห็นชอบให้จัดตั้งประชาคมอาเซียน ภายใน พ.ศ. 2563 แต่ต่อมาได้ตกลงร่นระยะเวลาจัดตั้งให้เสร็จใน พ.ศ. 2558


ประชาคมอาเซียน


            ประชาคมอาเซียน แบ่งออกเป็น 3 ประชาคมย่อย ๆ เปรียบเสมือนสามเสาหลักซึ่งเกี่ยวข้องสัมพันธ์กัน ได้แก่ ...

 ประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียน (ASEAN Political and Security Community – APSC)

            ประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียน ถือว่าเป็นเสาหลักที่สำคัญอย่างหนึ่งในการสร้างประชาคมอาเซียน โดยมีเป้าหมายคือทำให้ประเทศสมาชิกอาเซียนนั้น เป็นสังคมที่มีความไว้เนื้อเชื่อใจซึ่งกันและกัน มีเสถียรภาพ มีสันติภาพ และมีความปลอดภัยมากขึ้นในชีวิตและทรัพย์สิน อันเป็นพื้นที่ฐานที่จะส่งเสริมการพัฒนาด้านต่าง ๆ โดยมีวัตถุประสงค์หลัก คือ

            1. สร้างค่านิยมและแนวปฏิบัติร่วมกันของอาเซียนในด้านต่าง ๆ ครอบคลุมถึงกิจกรรมต่าง ๆ ที่จะร่วมกันทำเพื่อสร้างความเข้าใจในระบบสังคม วัฒนธรรม และประวัติศาสตร์ที่แตกต่างของประเทศสมาชิก ส่งเสริมพัฒนาการทางการเมืองไปในทิศทางเดียวกัน เช่น หลักการประชาธิปไตย การส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชน การสนับสนุนการมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคม การต่อต้านการทุจริต การส่งเสริมหลักนิติธรรมและธรรมาภิบาล การไม่ใช้อาวุธนิวเคลียร์ เป็นต้น

            2. ส่งเสริมความสงบสุขและรับผิดชอบร่วมกัน ในการรักษาความมั่นคงสำหรับประชาชนที่ครอบคลุมในทุกด้านครอบคลุมความร่วมมือ เพื่อเสริมสร้างความมั่นคงในรูปแบบเดิม และมาตรการสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจและการระงับข้อพิพาทโดยสันติ ทั้งนี้ เพื่อป้องกันสงครามและให้ประเทศสมาชิกอาเซียนอยู่ด้วยกันโดยสงบสุข โดยไม่มีความหวาดระแวง อีกทั้งเป็นการขยายความร่วมมือเพื่อต่อต้านภัยคุกคามรูปแบบใหม่ เช่น การต่อต้านการก่อการร้าย อาชญากรรมข้ามชาติต่าง ๆ อาทิ ยาเสพติด การค้ามนุษย์ตลอดจนการเตรียมความพร้อมเพื่อป้องกันและจัดการภัยพิบัติและภัยธรรมชาติ

            3. ส่งเสริมให้ประชาคมอาเซียนมีความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นและสร้างสรรค์กับประชาคมโลก โดยให้อาเซียนมีบทบาทนำในภูมิภาค มีพลวัตและปฏิสัมพันธ์กับโลกภายนอก เพื่อเสริมสร้างบทบาทของอาเซียนในความร่วมมือระดับภูมิภาค เช่น กรอบอาเซียน+3 กับจีน ญี่ปุ่น สาธารณรัฐเกาหลี (เกาหลีใต้) และการประชุมสุดยอดเอเชียตะวันออกตลอดจนความสัมพันธ์ที่เข้มแข็งกับมิตรประเทศ และองค์การระหว่างประเทศ เช่น สหประชาชาติ


 ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (Asean Economics Community – AEC)

            ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ( AEC ) คือ อะไร หลายคนอาจจะสงสัย สำหรับ ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC คือ เป้าหมายการรวมตัวกันของประเทศสมาชิกอาเซียน 10 ประเทศ ประกอบด้วย ไทย  พม่า ลาว เวียดนาม  มาเลเซีย สิงคโปร์ อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ กัมพูชา และ บรูไน เพื่อก่อให้เกิดความสะดวกในการติดต่อค้าขายระหว่างกัน อันจะทำให้ภูมิภาคมีความเจริญมั่งคั่ง และสามารถแข่งขันกับภูมิภาคอื่น ๆ ได้ เพื่อความอยู่ดีกินดีของประชาชนในประเทศอาเซียน นอกจากนี้ ยังสามารถอำนาจต่อรองด้านต่าง ๆ กับคู่ค้าได้มากขึ้น และการนำเข้า ส่งออกของชาติในอาเซียนก็จะเสรี ยกเว้นสินค้าบางชนิดที่แต่ละประเทศอาจจะขอไว้ไม่ลดภาษีนำเข้า (เรียกว่าสินค้าอ่อนไหว)

            ส่วนแต่ละประเทศอาเซียนก็จะมีจุดเด่นใน ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC แตกต่างกันไป อาทิ ประเทศพม่า เด่นเรื่องการเกษตรและประมง, ประเทศมาเลเซีย เด่นเรื่องผลิตภัณฑ์ยาง และผ้าทอ, ประเทศอินโดนีเซีย เด่นเรื่องการผลิตภาพยนต์ และผลิตภัณฑ์ไม้, ประเทศฟิลิปปินส์ เด่นเรื่องอิเล็กทรอนิกส์, ประเทศสิงคโปร์ เด่นเรื่องเทคโนโลยี และสุขภาพ ส่วนประเทศไทย เด่นเรื่องการท่องเที่ยว และสายการบิน โดยประเทศไทยเป็นประเทศที่อยู่ตรงกลางอาเซียนพอดี

            สำหรับการเปลี่ยนแปลงของประเทศไทยที่คาดว่าจะเห็นได้ชัดเจน หลังจากเข้าสู่ ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC ยกตัวอย่าง เช่น ...
 
             การลงทุนจะเสรีมาก ประเทศใดจะลงทุนที่ไหนก็ได้ ฉะนั้นประเทศไหนที่มีระบบการศึกษาดี ๆ หากมาเปิดโรงเรียนในประเทศไทย ก็ทำให้นักเรียนมีโอกาสได้เรียนโรงเรียนที่มีคุณภาพมากขึ้น

             ประเทศไทยจะเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยว และศูนย์กลางการบิน เนื่องจากประเทศของเราอยู่ตรงกลางอาเซียนพอดี และประเทศไทยยังเด่นเรื่องการจัดประชุมต่าง ๆ การแสดงนิทรรศการ ศูนย์กระจายสินค้า รวมถึงยังเด่นเรื่องการคมนาคมอีกด้วย นอกจากนี้ ยังคาดว่าการบริการทางด้านการแพทย์และการสาธารณสุขจะเติบโตมากขึ้น  เนื่องจากมีช่องทางที่จะผสมผสานส่งเสริมกับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว และค่าบริการทางการแพทย์ของประเทศอื่น ๆ ยังมีราคาสูงมาก
 
             การค้าขายจะขยายตัวอย่างน้อย 25% ในส่วนของอุตสาหกรรมบางอย่าง เช่น รถยนต์, การท่องเที่ยว, การคมนาคม แต่ทั้งนี้ อุตสาหกรรมที่น่าเป็นห่วงของไทยนั้น ได้แก่ อุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานเป็นหลัก เช่น  ภาคการเกษตร, ก่อสร้าง, อุตสาหกรรรมสิ่งทอ อาจจะได้รับผลกระทบ เนื่องจากฐานการผลิตอาจย้ายไปประเทศที่ผลิตสินค้าทดแทนได้ เช่น อุตสาหกรรมสิ่งทอ โดยผู้ลงทุนอาจย้ายฐานการผลิตจากประเทศไทยไปยังประเทศที่มีค่าแรงถูกกว่า เนื่องด้วยบางธุรกิจไม่จำเป็นต้องใช้ทักษะมากนัก เพราะฉะนั้นค่าแรงจึงถูก

             เรื่องภาษาอังกฤษจะเป็นสิ่งที่สำคัญอย่างมาก เนื่องจากจะมีคนอาเซียน เข้ามาอยู่ในไทยเป็นจำนวนมาก และมักจะพูดภาษาไทยไม่ค่อยได้ แต่จะใช้ภาษาอังกฤษ (AEC มีมาตรฐานแจ้งว่าจะใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษากลางใน AEC)  ส่วนสิ่งแวดล้อมนั้น ป้ายต่าง ๆ หนังสือพิมพ์, สื่อต่าง ๆ จะมีภาษาอังกฤษมากขึ้น  และจะมีโรงเรียนสอนภาษามากมาย หลากหลายหลักสูตร

             การค้าขายบริเวณชายแดนจะคึกคักอย่างมากมาย เนื่องจากด่านศุลกากรชายแดนอาจมีบทบาทน้อยลงมาก แต่จะมีปัญหาเรื่องยาเสพติด และปัญหาสังคมตามมาด้วย

             ประเทศไทยจะไม่ขาดแรงงานต่างชาติ อาทิ  แรงงานชาวพม่า, ลาว, กัมพูชา, แต่ทั้งนี้แรงงานต่างชาติดังกล่าวอาจจะส่งผลกระทบต่อแรงงานไทย โดยการแย่งงานคนไทยบางส่วน และอาจจะมีปัญหาเรื่องสังคม, อาชญากรรม ตามมาด้วย ทางรัฐบาลควรมีมาตรการรองรับปัญหาดังกล่าว

             อุตสาหกรรมโรงแรม, การท่องเที่ยว, ร้านอาหาร, รถเช่า บริเวณชายแดนจะคึกคักมากขึ้น เนื่องจากจะมีการสัญจรมากขึ้น และเมืองตามชายแดนจะพัฒนามากขึ้นเรื่อย ๆ เนื่องจากเป็นจุดขนส่ง

             กรุงเทพฯ จะแออัดเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากมีตำแหน่งเป็นตรงกลางของอาเซียนและเป็นเมืองหลวงของไทย โดยเมืองหลวง ที่อาจจะมีสำนักงานของต่างชาติมาตั้งมากขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้การจราจรติดขึดมากขึ้น และสนามบินสุวรรณภูมิจะแออัดมากขึ้นเช่นกัน

             ไทยจะเป็นศูนย์กลางอาหารโลกในการผลิตอาหาร เนื่องจากบริษัทอาหารในไทยนั้นมีชื่อเสียง และแข็งแกร่ง ประกอบทำเลที่ตั้งเหมาะสมอย่างมาก ซึ่งก็ถือเป็นธุรกิจของคนไทยที่ชำนาญอยู่แล้ว


 ประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน (Asean Socio-Cultural Community – ASCC)


            กลุ่มอาเซียนมุ่งหวังประโยชน์จากการรวมตัวกันเป็นประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียนเพื่อให้ประชาชนมีความอยู่ดีกินดี ปราศจากโรคภัยไข้เจ็บ มีสิ่งแวดล้อมที่ดีและมีความรู้สึกเป็นหนึ่งเดียวกันโดยเน้นการส่งเสริมความรู้  ความเข้าใจระหว่างประเทศสมาชิกในด้านความเชื่อมโยงทางประวัติศาสตร์ มรดกทางวัฒนธรรมและอัตลักษณ์ระดับภูมิภาคร่วมกัน

            ทั้งนี้ การเสริมสร้างรากฐานและความเชื่อมโยงระหว่างกันที่แข็งแกร่งนำไปสู่ความเข้าใจของการเป็นเพื่อนบ้านที่ดี การรู้เขารู้เรา และมีความรับผิดชอบร่วมกันระหว่างประเทศสมาชิกภายใต้สังคมที่เอื้ออาทร โดยแผนปฏิบัติการเพื่อนำไปสู่การจัดตั้งประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน โดยได้กำหนดกิจกรรมความร่วมมือที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลางโดยเน้นความร่วมมือในด้านต่าง ๆ ได้แก่

           1. การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ (Human Development)
           2. การคุ้มครองและสวัสดิการสังคม (Social Welfare and Protection)
           3. สิทธิและความยุติธรรมทางสังคม (Social Justice and Rights)
           4. ความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม (Ensuring Environmental Sustainability)
           5. การสร้างอัตลักษณ์อาเซียน (Building ASEAN Identity)
           6. การลดช่องว่างทางการพัฒนา (Narrowing the Development Gap)


            นอกจากนี้ ยังจะเน้นการส่งเสริมปฏิสัมพันธ์ระหว่างนักเขียน นักคิดและศิลปินในภูมิภาค ตลอดจนการเสริมสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับอาเซียนในภูมิภาคโดยเฉพาะในระดับประชาชน

            สุดท้ายนี้... ประเทศไทยจะได้ประโยชน์อย่างมากจากรากฐานสำคัญของประชาคมอาเซียน และขณะนี้แต่ละประเทศก็พยายามที่จะสร้างความเข้าใจอันดีซึ่้งกันและกัน รวมถึงสร้างความเข้าใจถึงผลประโยชน์ที่มีร่วมกัน ซึ่งความเข้าใจอันดีนี้ก็จะเป็นส่วนช่วยในการสร้างประชาคมอาเซียนให้ประสบความสำเร็จอย่างดีเยี่ยมด้วยค่ะ 


 เกาะติด ข่าวอาเซียน 10 ประเทศ ข้อมูลอาเซียน เลาะรั้วอาเซียน คลิกเลย



คิดอย่างไรกับเรื่อง: รู้จัก 3 เสาหลัก ประชาคมอาเซียน ?

รอโหลดข้อความของเพื่อน ๆ ด้านล่างนี้สักครู่ แล้วร่วมแสดงความคิดเห็นของคุณได้เลย !
รู้จัก 3 เสาหลัก ประชาคมอาเซียน โพสต์เมื่อ 24 ตุลาคม 2555 เวลา 20:39:22 61,617 อ่าน แสดงความคิดเห็น
TOP